; โรคติกส์ (TICS) และโรคทูเร็ตต์ (Tourette) -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

โรคติกส์ (TICS) และโรคทูเร็ตต์ (Tourette)

โรคติกส์ (TICS) และโรคทูเร็ตต์ (Tourette)

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์


        โรคติกส์ เป็นโรคในกลุ่ม การเคลื่อนไหวผิดปกติ (movement disorders) มักพบในเด็กวัยเรียน (5-7ปี) โดยมาในรูปแบบของการเคลื่อนไหวซ้ำรูปแบบเดิมที่ไม่มีจุดประสงค์ เช่น กระพริบตา ยักคิ้ว แสยะยิ้ม พยักหน้า ยักไหล่ กระโดดหรือมีอาการกระตุกตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ที่ควบคุมไม่ได้ 
โดยส่วนมากผู้ป่วยมักมีความรู้สึกภายในบางอย่างนำมาก่อนที่จะเกิดอาการเคลื่อนไหว และเมื่อเคลื่อนไหวแล้วจะทำให้ความรู้สึกนั้นหายไปเหมือนได้รับการปลดปล่อย  หากผู้ป่วยพยายามบังคับไม่เคลื่อนไหวจะทำให้รู้สึกอัดอั้นไม่สบายใจ  อย่างไรก็ตามผู้ป่วยสามารถที่จะอดกลั้นต่อความต้องการที่จะเคลื่อนไหวผิดปกติได้ในระยะเวลาสั้น ๆ (temporary suppression) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคติกส์ โรคนี้อาจทำให้ผู้ป่วยเสียบุคลิก ขาดความมั่นใจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจเกิดความผิดปกติอื่นตามมา ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง

        ในผู้ป่วยบางรายอาจมาในรูปแบบการส่งเสียงที่ผิดปกติ เช่น กระแอม เสียงกลืนน้ำลาย หรือกรณีที่มีอาการมากอาจเป็นลักษณะการพูดซ้ำ  พูดเลียนแบบ หรือพูดคำหยาบคาย เป็นต้น  แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการแสดงทั้งการเคลื่อนไหว และการส่งสียงผิดปกติ จะเรียกว่าโรคทูเร็ตต์  ในโรคกลุ่มนี้อาจมีอาการของกลุ่มโรคจิตเวชนำมาก่อน เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคสมาธิสั้น เป็นต้น ส่วนสาเหตุของการเกิดโรคติกส์ อาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือเกิดจากโรคเฉพาะตัวบุคคลที่เกิดภายหลัง เช่น เกิดจากการติดเชื้อในสมองตอนเด็กหรือเป็นโรคออทิสติก เป็นต้น

        โรคติกส์ที่เกิดในผู้ใหญ่ มักมีสาเหตุมาจากการเป็นโรคติกส์ตอนเด็ก หรือผู้ป่วยบางคนมีรายงานว่าเกิดจากรอยโรค หรือเนื้องอกบางตำแหน่งในสมองได้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อลดปัญหาหรือความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ที่อาจตามมาในภายหลังได้ การรักษาที่ดีที่สุดคือการปรับพฤติกรรม เพื่อลดอาการที่นำมาก่อนการเคลื่อนไหว และเพิ่มระยะเวลาที่สามารถยับยั้งการเคลื่อนไหวหากยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ การใช้ยากลุ่มจิตเวช (anti-psychotics) เพื่อช่วยระงับการเคลื่อนไหวผิดปกติ เป็นทางเลือกที่มีประโยชน์ แต่ต้องติดตามผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยากลุ่มนี้ด้วย เช่น กลุ่มอาการพาร์กินสันเทียม กลุ่มอาการบิดเกร็ง เป็นต้น และควรรักษากลุ่มโรคจิตเวช (OCD,ADHA) ที่มาพร้อมโรคติกส์ด้วย เพื่อคุณภาพชีวิต  ที่ดีของผู้ป่วย

โรคติกส์ (TICS) และโรคทูเร็ตต์ (Tourette)

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

คนใกล้ชิดท่านเคยมีอาการดังต่อไปนี้หรือไม่
      - ขยิบตา ย่นจมูก กระตุกมุมปาก สะบัดคอ เอียงคอ ยักไหล่ กระตุกแขน-ขา-หน้าท้อง ซ้ำ ๆ (motor tics)
      - ไอ กระแอม ซูดจมูก ส่งเสียงอือ-อา คำไม่มีความหมาย-หยาบคาย ซ้ำ ๆ (Vocal tics)
      - คนใกล้ชิดท่านอาจเป็นโรค Tics หรือ Tourette

โรค Tics หรือ Tourette คืออะไร
      - เป็นโรคความผิดปกติทางระบบประสาท ทำให้มีอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ หรือเปล่งเสียงซ้ำ ๆ
      - มักมีอาการขึ้น ๆ ลง ๆ ส่งผลให้ขาดความมั่นใจ ถูกล้อว่า อับอายหรือถูกตำหนิได้
      - หากมีอาการทั้งกล้ามเนื้อกระตุก (motor tic) และ เปล่งเสียง (Vocal tic) ร่วมกันเรียกว่า Tourette

พบได้บ่อยแค่ไหน
      - Tics ชั่วคราวพบได้ถึงร้อยละ 20 และพบเป็นต่อเนื่องได้ร้อยละ 2 ในขณะที่พบ Tourette ได้ร้อยละ 1
      - พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง (3 - 4 ต่อ 1) อาการมักเริ่มตั้งแต่อายุน้อยกว่า 10 ปี และมักดีขึ้นเมื่อโตขึ้น
      - อาจพบโรคจิตเวชร่วมด้วยได้ถึง 2 ใน 3 โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคสมาธิสั้นและ ย้ำคิดย้ำทำ

สาเหตุคืออะไร
      - เกิดจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่พันธุกรรม การติดเชื้อ ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติของระบบสารเคมีในสมอง
      - อาการอาจมากขึ้นได้ด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น ความเครียด อากาศร้อน ความเหนื่อย การพักผ่อน

รักษาอย่างไร
      - ส่วนใหญ่แล้วอาการมักเป็นชั่วคราว จึงอาจใช้การสังเกตุติดตามอาการ
      - แต่ควรมาประเมินว่ามีโรคอื่น ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยมากกว่าร่วมหรือไม่   
      - และควรรักษาเมื่อถูกล้อว่า ไม่สามารถเข้าสังคมได้ รบกวนชีวิตประจำวันเช่นการเรียน ขับรถ หรือทำให้รำคาญใจ

ผู้ปกครองควรทำอย่างไร
      - เข้าใจว่าอาการที่เป็นไม่ได้เกิดจากการแกล้งทำ แม้โตขึ้นเด็กจะควบคุมได้บ้างแต่เด็กมักรู้สึกทุกข์ทรมาน
      - ให้กำลังใจ ส่งเสริมให้ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ และสร้างความภาคภูมิใจแก่เด็กในด้านอื่น ๆ

การรักษา
      - มีการรักษาด้วยการปรับพฤติกรรมและการรักษาด้วยยา โดยมุ่งเน้นให้อาการลดลงจนไม่ส่งผลกระทบ